สื่อสาร CSR: ใช้เรื่องเล่าส่งเสริมใจอาสาสมัครในสังคมไทย

ผมได้รับเชิญจาก National Book Development Council of Singapore ให้ไปร่วมเป็นวิทยากรในการประชุม Origins Asia Pacific Business Narrative Conference เมื่อวันที่ 6 – 8 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ร่วมประชุมและวิทยากรอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้เรื่องเล่า หรือ Storytelling ในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรและสังคม? Conference ครั้งนี้ จัดขึ้นที่ The Legends at Ford Canning Park ใกล้ ๆ กับ Raffles City สิงคโปร์ มีผู้เข้าร่วมประชุมในงานนี้ ประมาณ 130 คน

ประสบการณ์ของเราที่เรานำไปแบ่งปันในงานนี้ คือ การใช้เรื่องเล่าเพื่อส่งเสริมใจอาสาสมัครในสังคมไทย ซึ่งเราได้ทำผ่านงานสื่อสารโครงการ CSR อย่างต่อเนื่อง มาเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2008

เรื่องเล่าในงานสื่อสารของเรา

ตัวอย่างหนึ่งจากการทำงานของเราที่ได้แบ่งปันกับผู้ร่วมประชุม คือ กิจกรรมที่เราจัดให้อาสาสมัคร

คุณโจน จันใด ผู้ก่อตั้งศูนย์พันพรรณ
คุณโจน จันใด ผู้ก่อตั้งศูนย์พันพรรณ

ได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่นและการเพาะเมล็ดพันธุ์

ศูนย์พันพรรณ เป็นสวนออแกนิคขนาดเล็ก ที่ยึดแนวทางการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ปลูกพืชและผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ สร้างที่อยู่อาศัยและอาคารได้ด้วยตัวเองโดยใช้เทคนิคการสร้างบ้านดิน กิจกรรมหลักของศูนย์พันพรรณ คือการส่งเสริมให้เกษตรกรคัดเลือก เก็บรักษา เพาะพันธุ์เมล็ดพืช เพื่อใช้ปลูกและแลกเปลี่ยนกัน

การที่เกษตรกรสามารถที่จะคัดเลือกและเพาะเมล็ดไว้ปลูกเองได้ นอกจากจะเป็นการช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นการรักษาพืชพรรณพื้นถิ่น เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

ความสำคัญของเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น วิถีปฏิบัติดั้งเดิมของเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหาร เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ไม่นับถึงเส้นทางการแสวงหาวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของของคุณ โจน จันได ผู้ก่อตั้งศูนย์พันพรรณ เรื่องเล่าเหล่านี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับอาสาสมัคร รวมไปถึงสื่อมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

เรื่องราวของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านและการเพาะเมล็ดพันธุ์ จึงได้รับถูกถ่ายทอดให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์พันพรรณ และถ่ายทอดสู่สังคมผ่านทางสื่อมวลชน

ผลจากการเล่าเรื่องของเรา

คุณโจนได้รับโทรศัพท์และจดหมายนับพันจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่อยากจะฟื้นฟูวิถีปฏิบัตินี้จากพื้นที่ข่าวที่สื่อมวลชนได้ช่วย ประชาสัมพันธ์ให้จนเกิดเครือข่ายที่กว้างขวางไปทั่วประเทศ ศูนย์พันพรรณ ของคุณโจน จันใด กลุ่มเกษตรกรบ้านแม่โจ้ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งจากคนในชุมชนเอง และจากหน่วยราชการในท้องถิ่น ที่แวะเวียนมาดูงานบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิม ยังไม่ต้องพูดถึงการขยายผลโดยเพื่อนอาสาสมัครที่มาเข้าร่วมกิจกรรม

อาสาสมัครคนหนึ่งตัดสินใจลาพักงานหนึ่งปี เพื่อมาเรียนรู้วิถีชีวิตทางเลือกที่ศูนย์พันพรรณ

เรื่องเล่าทำได้มากกว่าที่คุณคิด

นอกจากการใช้เรื่องเล่าเพื่อการสื่อสารแล้ว เรื่องราวของคุณโจน ยังช่วยให้เราเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรม CSR ที่เรารับผิดชอบได้อย่างเป็นรูปธรรม

คำถามที่เราพบบ่อยในการทำงานของเรา คือว่า ทำโครงการ CSR แล้วได้อะไร หรือ จะวัดผลของโครงการ CSR ได้อย่างไร

ปัญหาในทางปฏิบัติของการวิจัยและประเมินผล คือว่า การวิจัยในเชิงปริมาณใช้ได้ผลดีในการทดสอบสมมุติฐาน แต่กับสถานการณ์ที่ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังบังเกิด (emerging situation) การวิจัยเชิงปริมาณอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อโครงการ CSR เป็นโครงการที่เริ่มใหม่หรือเป็นโครงการขนาดเล็ก

การเก็บเรื่องเล่าจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เป็นวิธีการเชิงคุณภาพที่เราใช้ในการประเมินผลกระทบของโครงการ CSR